|

ประวัติสโมสร โรตารีภูเก็ต

ประวัติสโมสร โรตารีภูเก็ต
สโมสรโรตารี ภูเก็ต    รหัสสโมสร  16296
ผู้ว่าการภาคในปีที่ก่อตั้ง   ผวภ.ศุภวัตร ภูวกุล ผู้แทนพิเศษในการก่อตั้ง    รทร.สุบรรณ สุวรรณเลิศ สโมสรผู้อุปถัมภ์      
สโมสรโรตารีกรุงเทพ วันที่รับสารตราตั้ง     28 พฤศจิกายน 2520   นายกก่อตั้งสโมสร   นยก.บันลือ ตันติวิท
สถานที่ประชุม    โรงแรมเพิร์ล ภูเก็ต
วัน/เวลาประชุม    วันพุธ เวลา 20.00-21.00 น.
สถานที่ติดต่อ/ส่งเอกสาร    100/149 หมู่ 5 ถ.เฉลิมพระเกียรติ ร.9 ต.รัษฎา อ.เมือง จ.ภูเก็ต 83000  
อุปถัมภ์การก่อตั้งสโมสร •
               สโมสรโรตารีพังงา • สโมสรโรตารีทุ่งคา • สโมสรโรตารีอันดามัน • สโมสรโรตารีป่าตองบีช • สโมสรโรตารีภูเก็ตเซาท์ อุปถัมภ์สโมสร • สโมสรโรทาแรคท์ มหาวิทยาลัยราชภัฎภูเก็ต • สโมสรอินเตอร์แรคท์ โรงเรียนสตรีภูเก็ต • สโมสรอินเตอร์แรคท์ โรงเรียนเทศบาลปลูกปัญญา ในพระอุปถัมป์
สโมสรคู่มิตร • สโมสรโรตารีหมากแข้ง อุดรธานี ภาค 3340 • สโมสรโรตารีกัวลาลัมเปอร์ ดิราจา ภาค 3300 ประเทศมาเลเซีย • สโมสรโรตารีออนชอนจู ภาค 3670 ประเทศเกาหลี
ประวัติความเป็นมา ......
               จาก คำบอกเล่าจาก  รทร.สุบรรณ สุวรรณเลิศ ( ผู้แทนพิเศษในการก่อตั้ง ) สำหรับประเทศไทยของเรานั้น  สโมสรแห่งแรกได้เกิดขึ้นเมื่อ วันที่ 17 กันยายน ค.ศ. 1930 มีชื่อว่า " สโมสรโรตารีกรุงเทพฯ" ซึ่งในขณะนี้ก็ยังรักษาคุณงามความดีตามแบบฉบับ และมีกิจกรรมเพื่อประโยชน์ของประชาชนเรื่อยมา โดยมิได้หยุดยั้งแม้แต่ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็ตาม ถึงแม้ว่าในประเทศเราตอนนั้นจะมีสโมสรทั้งหมดกว่า 30 สโมสร สโมสรโรตารีธนบุรี เป็นสโมสรที่ตั้งขึ้นเป็นอันดับที่ 2 ในประเทศไทย สโมสรโรตารีธนบุรี ได้มีกิจกรรมต่างๆ ไม่แพ้สโมสรใดเลย สิ่งหนึ่งที่สโมสรได้สร้างขึ้นมาเป็นปึกแผ่นแน่นหนา ก็คือให้การสนับสนุน และก่อตั้งสโมสรโรตารี ในต่างจังหวัด เป็นแบบฉบับ และเป็นพี่เลี้ยงที่ดีตลอดมา ส่วนสโมสรใหญ่ๆ ในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดทั่วไปก็ได้มีกิจกรรมของตัวเองแต่ละสโมสรในถิ่นที่ตนเองตั้งอยู่ทั้งยังร่วมกัน และช่วยเหลือกันเพื่อบริการสังคมอย่างมากมาย สโมสรโรตารีที่เป็นน้องคนเล็กที่สุดสำหรับวันนั้น ก็คือ “สโมสรโรตารีภูเก็ต” แต่เราคงจะเป็นน้องเล็กไม่ได้นานนัก เพราะจะมีสโมสรโรตารีตั้งขึ้นมาอีก 2-3 สโมสร ความจริงภูเก็ตเป็นเมืองใหญ่ ทั้งในปัจจุบัน และในอดีต น่าจะมีสโมสรโรตารีมานานแล้ว มีท่านผู้ใหญ่ในภูเก็ตหลายท่าน ที่มีเจตนาดีต่อภูเก็ต ได้พยายามจะทำการสำรวจและคิดตั้งมานานแล้ว แต่การตั้งสโมสรโรตารีใดๆ ก็ตามนั้นอยู่ที่ความพร้อมเพรียงของสมาชิกแต่ละคน การก่อตั้ง       ”สโมสรโรภูเก็ต” ได้ล่าช้ามากก็เพราะว่า เมื่อก่อนเรายังไม่พร้อม แต่เวลานี้เราได้พร้อมแล้ว เดิมทีเดียวเมื่อผมได้ทราบว่าผมจะได้ย้ายมาทำงานที่ภูเก็ต ผมก็ดีใจเพราะคิดว่าคงจะมีสโมสรโรตารีอยู่แล้ว ผมจะได้เป็นสมาชิกที่นี่ต่อเลย ในส่วนลึกของผม ผมยังไม่อยากจะจากการเป็นโรแทเรียน เพราะผมได้เป็นสมาชิกมาเป็นเวลา 8 ปีแล้ว ยิ่งเป็นนานยิ่งทำให้ผมรู้สึกว่า การทำประโยชน์ให้สังคมร่วมกับมวลสมาชิกด้วยกันเป็นประสบการณ์ที่ดี เป็นกำไรชีวิต และเป็นสิ่งที่ผมขาดไม่ได้ ถึงแม้ว่าจะได้ทำมาก หรือทำน้อยตามกำลัง แต่ก็มีความภาคภูมิใจ พอผมดูในทำเนียบโรตารีหาชื่อภูเก็ตอยู่หลายเที่ยว ก็ไม่มี ครั้นจะไปร่วมประชุมกับสโมสรที่ใกล้ที่สุดก็คือ ยะลา และเบตง ก็ไกลจากภูเก็ตมาก ทำให้ผมหมดกำลังใจ ผมจึงได้ไปแสดงความจำนงกับ สโมสโรตารีกรุงเทพ ในขณะนั้น คือ รทร.เนลสัน อเล็กซานเดอร์ และ รทร.เออวิน บาวแมน ซึ่งกำลังจะเป็นนายกสโมสรคนต่อไป ทั้งสองท่านทัดทานมิให้ผมลาออก โดยอ้างว่าผมอาจจะได้เข้ากรุงเทพฯ บ่อยๆ คงจะได้ประชุมที่กรุงเทพฯ บ้าง และอีกประการหนึ่ง “สโมสรโรตารีภูเก็ต” ก็ยังไม่มีผมน่าจะพิจารณาหาทางตั้งที่นั่นดู โดยเฉพาะอย่างยิ่งผมเคยรับใช้โรตารีมาหลายตำแหน่ง รวมทั้งคณะกรรมการบริหารต่างๆ  และเลขานุการกิตติมศักดิ์ด้วยรู้เรื่องโรตารีพอสมควรผมน่าจะทำได้ และหากต้องการความช่วยเหลือจากสโมสรโรตารีกรุงเทพฯ อย่างใด ทางสโมสรยินดีให้การสนับสนุน เมื่อมาถึงภูเก็ตก็เริ่มวางโครงการของผมเลย 2 เดือนผ่านไป โครงการเหล่านั้นก็เป็นโครงการจริงๆ คือ มีแต่โครงไม่มีการเลย เพราะผมไม่รู้จักใครในวงธุรกิจ ในภูเก็ตเลย ผมใหม่เกือบทุกอย่างสำหรับภูเก็ต ทำให้ผมเกือบท้อถอย ภูเก็ตมีประชากรทั้งจังหวัดประมาณ 120,000 คน แต่ที่ผมจำหน้าและจำชื่อได้ไม่ถึง 20 คน ผมมานั่งอ่านคำแนะนำในการตั้งสโมสรโรตารีดูวิธีการแล้วทำให้ผมหนักใจมากขึ้น เพราะเท่าที่รู้ภูเก็ตมีอาชีพหลักอยู่ 7 อย่าง ผมจะไปหานักธุรกิจต่างอาชีพที่ไหนได้กว่า 25 อาชีพ ผมพยายามกรอกรายชื่อคนที่ผมพอจะรู้จัก และเป็นผู้ที่น่านับถือลงในบัญชีดูสมาชิกสโมสรไลออนส์ภูเก็ต มาเปิดดู ปรากฏรายชื่อทั้งหมดที่ผมมีเป็นสมาชิกของสโมสรไลออนส์เกือบหมดทุกคน ความหวังของผมที่เคยมีอยู่บ้างก็ได้หายไปเกือบหมด จนกระทั่งคืนวันหนึ่ง คือวันที่ 16 กรกฎาคม 2520 ผมได้พบนักธุรกิจหนุ่มรูปร่างสมาร์ทคนหนึ่งในที่สลัวๆ แห่งหนึ่ง จำได้แน่ๆ ว่าท่านหน้าตาเป็นที่เกรงขาม ท่านได้มานั่งร่วมโต๊ะดื่มบรั่นดี บรั่นดีของผมหมดไปหลายแก้ว และท่านก็ดื่มน้ำส้มไปหลายแก้วเช่นเดียวกัน ก็เลยชวนท่านคุยเรื่องบริการประชาชนในภูเก็ต ความจริงผมยกเรื่องนี้ขึ้นมาก็เหมือนกับเอามะพร้าวห้าวไปขายสวน ท่านทำอยู่แล้วเป็นประธานสภาจังหวัดภูเก็ตด้วย คนรูปหล่อๆ นั่งข้างท่านคือ ประธานสภาปฏิรูปมาจากกรุงเทพฯ เราพูดอะไรบ้างจำไม่ได้เลยเพราะทั้งเสียงดนตรี เสียงนักร้องกลบเกลื่อนเรื่องที่คุยกันเป็นห้วงๆ ตื่นมาตอนเช้าพบท่านอีก คราวนี้ท่านแต่งเครื่องแบบชั้นพิเศษ 4 ขีด บนบ่า ผมก็เลยรวบรวมความจำที่มีอยู่อย่างกระท่อนกระแท่นว่า ท่าน ชื่อ สิทธิ ตัณฑวณิช ท่านยินดีที่จะให้การสนับสนุน และร่วมการก่อตั้งสโมสรโรตารีภูเก็ตด้วย ส่วนรายละเอียด ผมจำไม่เลย แต่แค่นั้นผมก็พอใจในความจำของผมแล้ว หลังจากนั้นผมก็ชวนคุณศักดิ์ คำจำนงค์ และคุณพรชัย ณ นคร ที่บริษัทบิลลิตันไทยแลนด์ จำกัด เข้าเป็นสมาชิกก่อตั้ง ซึ่งท่านทั้งสองก็ได้เข้มแข็งช่วยงานการก่อตั้งได้เป็นอย่างดี โดยจัดทำเอกสาร และรวบรวมพรรคพวกมาประชุมกันเป็นครั้งแรกที่โรงแรมเพิร์ล ชั้น 12 เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 2520 เวลา 12.20 น.โดย รทร. น.พ. เลิศ ศรีจันทร์ อดีตนายกสโมสรโรตารีธนบุรี เป็นผู้ให้คำบรรยาย และชี้แจงแก่ผู้ที่เข้าประชุม ผู้ที่เข้าประชุมวันนั้นมี คุณสิทธิ ตัณฑวณิช, คุณสมศักดิ์ คูสุวรรณ, คุณสิทธิพันศธ์ เทภาสิต, คุณชวลิต ณ นคร, คุณฐากูร นิกรติณชาติ, น.พ.เสนาะ สถิตย์วงค์, คุณพรชัย ณ นคร และผม รวมทั้งคุณหมอเลิศ ด้วยเป็น 9 คน ด้วยกัน ในวันนั้นเราได้ทำการซักถามคุณหมอหลายเรื่อง ที่ประชุมจึงได้ตกลงกันว่าจะประชุมกันอีกครั้งในวันที่ 12 พฤศจิกายน 2520 โดยให้แต่ละคนหาพรรคพวกมาคนละ 4-5 คน เท่าที่จะสามารถหาได้ และก็จะทำการประชุมการก่อตั้งสโมสรต่อไป วันนั้นเป็นวันที่เริ่มต้นด้วยดี ทุกคนได้แสดงออกถึงจิตใจ และเจตนารมณ์ที่จะทำงานร่วมกันในสังคมจังหวัดภูเก็ต อาจจะมีแรงดลอีกแรงหนึ่งก็ได้คือก่อนที่จะประชุมในเช้าวันนั้น คุณหมอเลิศกับผม ก็ได้ไปคำนับท่านผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ศรีพงศ์ สระวาสี โดยที่ท่านเป็นเจ้าเมืองก็ต้องขออนุญาตท่าน และเป็นการเอาฤกษ์ไปในตัว ท่านได้ให้การต้อนรับเป็นอย่างดี และรับปากว่าจะให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ และได้ทราบว่าท่านเป็นอดีตโรแทเรียน และเคยเป็นนายกสโมสรมาก่อน ทำให้คุณหมอเลิศ และผมมีกำลังใจขึ้น หลังจากนั้นท่านก็ได้ถามถึงความเคลื่อนไหวของสโมสรเรื่อยมา จึงนับเป็นพ่อเมืองที่ให้การสนับสนุนลูกเมืองในกิจกรรมของชุมชนต่างๆเป็นอันดี เย็นวันที่ 12 พฤศจิกายน 2520 เราก็ได้ไปพร้อมกันที่บ้านพักของผม เลขที่ 46/1 ถนนดำรง ภูเก็ต มวลสมาชิกก่อตั้งทั้งหลายรวม 28 คนมาพร้อมกันทุกคน นำกับข้าวไปคนละอย่างสองอย่าง ตามแต่จะติดมือไปได้ไปเลี้ยงกันตามแบบสปิริตของโรแทเรียนจริงๆ  ในคืนนั้นมีโรแทเรียนจากกรุงเทพฯ ไปให้ความสนับสนุน และให้กำลังใจพวกเราคือ รทร.พิชัย รัตตกุล พร้อมกับโรตารีแอนน์จรวย พร้อมด้วย รทร.นายแพทย์เลิศ ศรีจันทร์, รทร.เนลสัน อเล็กซานเดอร์ และรทร.ปรีชา อมาตยกุล ในที่สุดพวกเราก็ตกลงกันว่าโรตารีภูเก็ต มีขึ้นแน่นอน ผู้ที่เข้าประชุมในวันนั้นก็คือมวลสมาชิกก่อตั้งสโมสรทั้งหมด 28 ท่าน ที่มีทั้งชื่อ รูปถ่าย และอาชีพ ดังนั้นวันนั้นก็เป็นวันก่อตั้งโรตารีภูเก็ตของเรา เราได้ตั้งนายก, อุปนายกฯลฯ คณะกรรมการสโมสรในคืนนั้น พร้อมกับทำหนังสือขอสารตราตั้งจากโรตารีสากลโดย รทร. พิชัย รัตตกุล เป็นผู้ช่วยพวกเราได้กรอกแบบฟอร์มต่างให้ถูกต้องตามระเบียบ ถึงแม้วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2521 จะเป็นวันรับสารตราตั้งอย่างเป็นทางการ แต่เราคงยังระลึกถึงวันที่เราร่วมมือร่วมใจกันให้มีการก่อตั้งเป็นทางการ ซึ่งเราคิดว่ามีความสำคัญมาก วันนั้นก็คือ เย็นวันที่ 12 พฤศจิกายน 2520

ทำเนียบอดีตนายกสโมสรโรตารีภูเก็ต   ปีบริหาร 2520-2522        นยก.บันลือ  ตันติวิท                 ปีบริหาร 2522-2523      อน.สิทธิ  ตัณฑวนิช
                                                  ปีบริหาร 2523-2524        อน.พูลเพิ่ม  สุวรรณาคาร            ปีบริหาร 2524-2525      อน.อมรศักดิ์  องศ์สรณะคมน์
                                                  ปีบริหาร 2525-2526        อน.สมศักดิ์  คูสุวรรณ                ปีบริหาร 2526-2527      อน.เกียรติ  เนติวุฒิสาร
                                                  ปีบริหาร 2527-2528        อน.ธีระ  บัลลพาภินันท์              ปีบริหาร 2528-2529      นยก. ไพบูลย์  อุปติศฤงค์ (ก่อตั้งสโมสรโรตารีป่าตองบีช )
                                                  ปีบริหาร 2529-2530        อน.บูรณะ  งานสถิล                  ปีบริหาร 2530-2531       อน.บุญยงค์  ไพรพฤกษลักษณ์
                                                  ปีบริหาร 2531-2532        อน.สุรศักดิ์  ไชยานุพงศ์             ปีบริหาร 2532-2533       อน.ประจวบ  มาพานิช
                                                  ปีบริหาร 2533-2534        อน.อนุรักษ์  ธารสินิโรจน์            ปีบริหาร 2534-2535       อผภ.ประเสริฐ  ฟักทองผล
                                                  ปีบริหาร 2535-2536        อน.สิทธิพงศ์  จิรายุส                 ปีบริหาร 2536-2537       อน.สหาย  ตันติพรสวัสดิ์
                                                  ปีบริหาร 2537-2538        อน.วิรัช  เอ่งฉ้วน                      ปีบริหาร 2538-2539        อน.โชคชัย  ชีวเจริญกุล
                                                  ปีบริหาร 2539-2540        อน.วิทิต  เอกวานิช                   ปีบริหาร 2540-2541        อน.โชคชัย  งานทวี
                                                  ปีบริหาร 2541-2542        อน.ณฐกฤต  อ้วนอร่ามวิไล         ปีบริหาร 2542-2543        อผภ.เธียรศักดิ์  ปิยธรรมสิริ
                                                  ปีบริหาร 2543-2544        อน.นิรันดร์  กีรติวิทยายุต            ปีบริหาร 2544-2545        อน.ดำรงค์  หวงธนะภัณฑ์
                                                  ปีบริหาร 2545-2546        อผภ.อรชร  สายสีทอง               ปีบริหาร 2546-2547        อน.ณรงค์ชัย  หวังเกียรติ
                                                  ปีบริหาร 2547-2548        อน.ณิญาภัษร์  โพชนุกูล            ปีบริหาร 2548-2549        อน.ศักดิ์  คิ้วดำ
                                                  ปีบริหาร 2549-2550        อน.ศักดิ์ชาย  เชาวน์ไวย            ปีบริหาร 2550-2551        อน.มนู  เขียวคราม
                                                  ปีบริหาร 2551-2552        อน.สาโรจน์  อังคณาพิลาส         ปีบริหาร 2552-2553        อน.สมพร  ชุ่มพงษ์
                                                  ปีบริหาร 2553-2554        อน.รังสฤษฎ์  มณีศรี                  ปีบริหาร 2554-2555       อน.กิตติพงศ์  องค์วิมลการ
                                                  ปีบริหาร 2555-2556        อน.ธนิต  ตันติวิท                      ปีบริหาร 2556-2557       อน.ศุภศักดิ์  นุ่นสังข์
                                                  ปีบริหาร 2557-2558        อน.ปริม  สุวรรณเลิศ                  ปีบริหาร 2558 - 2559     อน.ธนิต ตันติวิท
                                                  ปีบริหาร 2559 - 2560      อน.เลิศรัตน์ ผิวงาม                   ปีบริหาร 2560 - 2561     อน.พัทธ์ธีรา กิตติวีระนนท์
                                                  ปีบริหาร 2561 - 2562      อน.สวนศรี เตี่ยวสกุล                 ปีบริหาร 2562 - 2563     อน.พัทธ์ธีรา กิตติวีระนนท์ 
                                                  ปีบริหาร 2563 - 2564      อน.จตุพร  ใฝ่หาสุข                   ปีบริหาร 2564 - 2565     อน. รังศกษฎ์  มณีศรี
                                                  ปีบริหาร 2565 - 2566      อน.อริศตา  จักรชัย